แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูกุ้มข้าว ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนศึกษา ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซากดึกดำบรรพ์พบในหินทรายเนื้อละเอียดสีน้ำตาลแดง อายุอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เป็นพื้นที่ที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์โครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดที่เคยพบมาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงกระดูกวางตัวต่อเนื่องกันตั้งแต่ลำตัวไปจนถึงหางที่โค้งตวาดพาดไปบนส่วนสะโพก จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าเป็นไดโนเสาร์ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ พบร่วมกับไดโนเสาร์กินพืชอีก 2 ชนิดที่แตกต่างกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในรายละเอียดกระดูกและฟันที่พบกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูกุ้มข้าวมีจำนวนรวมมากกว่า 700 ชิ้น และคาดว่าเป็นไดโนเสาร์อย่างน้อย 7 ตัว นอกจากนี้ยังค้นพบเต่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้แก่ เต่าอีสานนิมิส ศรีสุกิ (Tong et al., 2006) และบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งขุดค้นภูกุ้มข้าว ยังมีการค้นพบฟันฉลาม Sclerorhynchoid ซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อนในประเทศไทย
การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่สมบูรณ์มากและซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์สายพันธุ์ใหม่ทำให้พื้นที่ภูกุ้มข้าวได้รับการประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนในวันที่ 5 กันยายนพ.ศ 2557
ณ ภูกุ้มข้าว ทีมสำรวจทำแผนที่ธรณีที่จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อปี พ.ศ 2521 โดย นายวราวุธ สุธีธรและนายไพรัตน์ จรรหาญ ได้สำรวจบริเวณภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบกระดูก 3 ชิ้น เก็บไว้ในวัดสักกะวัน โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาส ร่วมกับโบราณวัตถุต่าง ๆ จึงได้ขอนำมาตรวจสอบ 1 ชิ้นจนกระทั่งปี พ.ศ 2523 คณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้ทำการค้นหาเพิ่มเติม แต่ไม่พบชั้นกระดูก จึงได้ขอกระดูก 2 ชิ้นที่เหลือมาตรวจสอบ พบว่าทั้ง 3 ชิ้นเป็นกระดูกท่อนเดียวกันของกระดูกขาซ้ายของไดโนเสาร์ซอโรพอด
เดือนกันยายน พ.ศ 2537 นายวราวุธ สุธีธร นางเยาวลักษณ์ ชัยมณี นายอัสนี มีสุข นายธีระพล วงศ์ประยูร และคณะจากกองธรณีวิทยา ได้ออกศึกษาวิจัยซากหอยที่พบในแหล่งไดโนเสาร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างสำรวจได้รับแจ้งจากฝ่ายพัฒนาน้ำบาดาล 3 โดยนายอนันต์ เกตุเอม และนายสุนทร ปัญจสุธารส ว่าทางวัดสักกะวันพบกระดูกคาดว่าเป็นไดโนเสาร์ จึงได้ไปตรวจสอบร่วมกัน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 ผลการขุดทดสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นแหล่งสะสมกระดูกที่น่าสนใจมาก แต่ว่าช่วงเวลาที่ขุดไปฤดูฝนชั้นหินมีน้ำมาก ทำให้การขุดค้นไม่สะดวกอาจทำให้กระดูกเสียหายได้ จึงทำการปิดหลุมไว้ชั่วคราว และเริ่มขุดอย่างมีระบบในเดือนพฤศจิกายน 2537 โดยคณะสำรวจไทย-ฝรั่งเศสได้เริ่มฝึกตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2537 ถึง 20 ธันวาคม 2537 พบกระดูกจำนวนมากจะถูกชิ้นสุดท้ายที่ได้ลงในแผนผังคือ 181 ทำให้หลุมขุดค้นภูกุ้มข้าวนี้เป็นแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์มากที่สุดในประเทศไทย เพื่อป้องกันหลุมขุดค้น นางประพิศ สัมปัตตะวนิช ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี ขณะนั้น ร่วมกับนายอนันต์ เกตุเอม หัวหน้าฝ่ายพัฒนา 3 จึงได้สนับสนุนให้สร้างหลังคาและรั้วป้องกัน ในการพักช่วงการขุดค้น คณะสำรวจได้ทำการขุดค้นต่อเนื่องตลอดปี 2538 พบกระดูกอีกหลายร้อยชิ้น ที่น่าสนใจมากคือโครงกระดูกไดโนเสาร์ตัวหนึ่งเกือบครบสมบูรณ์ทั้งตัว โดยกระดูกยังเรียงรายต่อกันอยู่ ขาดเพียงส่วนคอขึ้นไป โครงกระดูกที่พบนับว่าเป็นโครงสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย นอกจากนี้คงยังพบส่วนกะโหลกไดโนเสาร์อีกหลายชิ้น ทำให้ทราบว่าแหล่งนี้มีไดโนเสาร์ซอโรพอด 3 ชนิดและไดโนเสาร์เทอโรพอด 2 ชนิด จากกระดูกที่พบทั้งหมดกว่า 700 ชิ้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จทอดพระเนตร หลุมขุดค้นภูกุ้มข้าว วัดสักกะวัน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนพ.ศ 2538 จนกระทั่งปีพ.ศ 2562 ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ และคณะได้ทำการเปิดกองหินเหนือโครงกระดูกของ ภูเวียงโกซอรัส พบกล่องสมอง และกระดูกอีกจำนวนมากของไดโนเสาร์ซอโรพอดอีก 3 ชนิด
พิกัดสถานที่ จากที่นี่อ้างอิงจาก เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ความโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา อุทยานธรณีกาฬสินธุ์” วันที่ 28-29 มีนาคม 2566 ณ พิพิธภัณฑ์สิรินธร