Geo Map
แผนที่ขอบเขตอุทยานธรณีกาฬสินธุ์
ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ : สหัสขันธ์ – คำม่วง – สมเด็จ – ห้วยผึ้ง – กุฉินารายณ์ – นาคู – เขาวง
พื้นที่รวม 220,572 ไร่
จังหวัดกาฬสินธุ์เปิดตัวอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ของเขตอุทยานธรณี ทั้ง 7 อำเภอ ตั้งเป้าก้าวเข้าสู่ระดับประเทศ และระดับสากล
ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วย ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 นายยศวัฒน์ เธียร์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาฬสินธุ์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัฒนา พึ่งพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark ซึ่งจังหวัดกาฬสินธุ์มีความพร้อมในการเป็นอุทยานธรณี โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ประกาศเขตอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ ระดับจังหวัด จำนวน 7 อำเภอ คือ อำเภอสหัสขันธ์ คำม่วง สมเด็จ ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์ นาคู และอำเภอเขาวง โดยอุทยานธรณี คือพื้นที่เชื่อมโยงมรดกทางธรณีวิทยา ทางนิเวศวิทยา ทางวัฒนธรรม และผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จังหวัดกาฬสินธุ์ มีมรดกทางธรณีวิทยาที่มึคุณค่าทางวิชาการทางธรณีวิทยาที่โดดเด่นที่สุดคือ ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ ที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ ด้านธรณีวิทยาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แผ่นอนุทวีปอินโดไชน่า จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบตะกอนกรวดทราย โคลน รวมถึงซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ ถูกพัดพามา และทับถมกันเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ยุคจูแรสสิค 150 ล้านปีก่อน โดยชั้นหินในจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ในหมวดหินย่อยที่อยู่ในหินโคราช และ จังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น ตลอดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็ง
โดย นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ทำการกะเทาะเปลือกไข่ไดโนเสาร์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดตัว อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark และกล่าวว่าพร้อมที่จะพัฒนาต่อยอด ร่วมกับทุกภาคส่วน ตลอดจนชุมชน ในการขยายผล อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark ไปสู่ระดับประเทศ และระดับสากลต่อไป ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีความพร้อมในทุกด้านทั้งทางด้านแหล่งบรรพชีวิต อุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin Geopark สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความงามด้านวัฒนธรรม และอีกมากมาย
พื้นที่แต่ละอำเภอใน Kalasin Geopark
1.อำเภอสหัสขันธ์
พื้นที่ภูกุ้มข้าว ในเขตอำเภอสหัสขันธุ์ เป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ไทยที่สำคัญที่สุด เพราะขุดพบซากไดโนเสาร์ เจอไม่น้อยกว่า 700 ชิ้น และเป็นไดโนเสาร์ไม่ต่ำกว่า 7 ตัว” หลายปีก่อนนักท่องเที่ยวไปชมหลุมขุดซากฟอสซิล ซึ่งถูกค้นพบโดยพระญาณวิสาลเถร เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน โดยครั้งนั้นไม่มีใครคาดคิดว่า ผลการวิเคราะห์ซากฟอสซิลโดยนักวิจัยไทยร่วมกับฝรั่งเศส จะยืนยันว่า ซากไดโนเสาร์ที่ขุดพบในภูกุ้มข้าว นับว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นสายพันธุ์ไดโนเสาร์กินพืชซอโรพอด ชนิด “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่
2.อำเภอคำม่วง
แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านโคกสนาม หมู่ที่ 3 ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตามแนว ทิวเขาภูพาน เป็นสถานที่ที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์จาก ยุคจูแรสซิก ที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทย จนได้รับขนานนามว่า "จูแรสซิกพาร์กเมืองไทย"
3. อำเภอสมเด็จ
ค้นพบที่ภูน้อย จังหวัดกาฬสินธุ์ หรือจูแรสซิกปาร์คเมืองไทย ในหมวดหินภูกระดึง ยุคจูแรสสิกตอนปลาย (150 ล้านปี) ตัวแรกของประเทศไทย และเป็นไดโนสาร์สายพันธุ์ไทยตัวแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์
4.อำเภอห้วยผึ้ง
สามารถผ่านอำเภอห้วยผึ้งไปเยี่ยมชมแหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์ภูแฝกอำเภอนาคู จ.กาฬสินธุ์
5.อำเภอกุฉินารายณ์
มีที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์นาไคร้ อบต.นาไคร้ ต.กุดหว้า อ.กุฉินารายณ์
ซากฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดกินพืช แหล่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด แห่งที่ 2 ของ จ.กาฬสินธุ์ เป็นสถานที่ที่ขุดพบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถูกค้นพบในปี พ.ศ.2535 และหลังจากการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ มีการค้นพบซากกระดูกไดโนเสาร์ทั้งหมดจำนวน 171 ชิ้น ขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร
6.อำเภอนาคู
รอยเท้าไดโนเสาร์เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่บอกถึงการปรากฏตัวบนโลกของสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่เราเรียกว่าไดโนเสาร์ เป็นเครื่องยืนยันถึงการมีตัวตนของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่เคยเดินท่อมๆ หากินอยู่ตามพื้นทรายชุ่มน้ำตามขอบชายบึงหรือแม่น้ำในช่วงเวลาประมาณ 140 ล้านปีมาแล้ว รอยเท้าทั้งหมด ปรากฏให้เห็นเป็นรอยทางเดิน 3 แนว คือ แนวที่มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 7 รอย แนวทางเดินที่มุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมุม 60 องศา จำนวน 2 รอย และแนวทางเดินที่มุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุม 37 องศา จำนวน 3 รอย รอยเท้าทั้งหมดเป็นรอยเท้าที่มีนิ้ว 3 นิ้ว ขนาดโดยเฉลี่ยมีความยาวประมาณ 45 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร ระยะก้าว 120 และ 110 เซนติเมตร เป็นไดโนเสาร์ที่เดินด้วยสองขาหลัง มีความสูงถึงสะโพกมากกว่า 2 เมตร
7.อำเภอเขาวง
พิพิธภัณฑ์ดึกดำบรรพ์วัดโพนวิมาน (วัดป่าพุทธบุตร) อยู่ในอาคารชั้นเดียวกลางลานวัด ภายในห้องโถงจัดแสดงฟอสซิลของสัตว์และแร่ธาตุที่น่าสนใจไว้ในตู้กระจก โดยแยกเป็นชนิดอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์และสัตว์อื่นอายุกว่าร้อยล้านปี ที่โดดเด่นคือฟอสซิลของปลาหลายชิ้นที่ได้มาจากที่ต่างๆ ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์เห็นเป็นรูปร่างชัดเจน โดยมีแผ่นป้ายระบุชนิดของปลาและบริเวณที่พบติดแสดงไว้ด้วย ส่วนต้นไม้กลายเป็นหินตั้งแสดงกลางแจ้งบริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ดึกดำบรรพ์ วัดป่าพุทธบุตร จัดตั้งโดยพระครูจินดารัตนาภรณ์(พระอาจารย์ศักดิ์ดา ธมฺมรโต) เจ้าสำนักสงฆ์พุทธบุตร ในช่วงต้นปี พ.ศ.2541 ด้วยพระอาจารย์ได้พบต้นไม้กลายเป็นหินและฟอสซิลปลายุคไดโนเสาร์อายุประมาณ 150 ล้านปี บนภูโหล่ยซึ่งอยู่ห่างจากวัดไปทางเหนือ 4 กม. โดย ดร.วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณีเป็นผู้ร่วมสำรวจ หลังจากนั้นทางวัดจึงเริ่มสะสมและรวบรวมจัดเป็นพิพิธภัณฑ์วัดป่าพุทธบุตรภายในบริเวณวัดเก็บรักษาฟอสซิลกระดูกสัตว์ดึกดำบรรพ์อายุกว่าร้อยปีไว้เป็นจำนวนมาก โดยจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
ข้อมูลแผนที่ Kalasin Geopark
พื้นที่ Kalasin Geopark ครอบคลุม 7 อำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่
รวมพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่ 220,572 ไร่
จุดเด่นของ Kalasin Geopark
อัตลักษณ์ทางธรณีวิทยา: พื้นที่มีซากดึกดำบรรพ์และแหล่งฟอสซิลที่สำคัญ
การศึกษาและการอนุรักษ์: เชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
แหล่งสำคัญในแต่ละอำเภอ
1. สหัสขันธ์: แหล่งค้นพบไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว
2. คำม่วง: ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์จากยุคจูแรสซิก
3. สมเด็จ: ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์แรกของจังหวัด
4. ห้วยผึ้ง: แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์
5. กุฉินารายณ์: พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์นาไคร้
6. นาคู: รอยเท้าไดโนเสาร์อายุ 140 ล้านปี
7. เขาวง: พิพิธภัณฑ์ดึกดำบรรพ์ที่แสดงฟอสซิลสัตว์และแร่ธาตุ
Kalasin Geopark มีความตั้งใจที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศและระดับสากล
แหล่งที่มา